วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2557

นี่คือกิ่งไม้หรือใบไม้กับตั๊กแตน



 ตั๊กแตนกิ่งไม้ มีอยู่ด้วยกันหลายสกุลหลายชนิด เช่น Asceles sp. ,Heteropteryx sp.
 , 
Lopaphus sp. , Orestes sp. , Phaenopharos sp. , Pylaemenes sp. , Sipyloidea sp.
Trachythorax sp. เป็นต้น พบกระจายอยู่ทั่วโลก ครั้งหนึ่งท่ามกลางความเงียบสงบ
ของธรรมชาติ ผู้เขียนยืนมองรุ่นพี่กำลังขะมักเขม้นกับการถ่ายภาพดอกไม้ จึงได้ยิน
เสียงเบาๆอยู่เหนือศีรษะ เมื่อเงยหน้าขึ้นมองก็พบว่าเป็นชิ้นส่วนของต้นไม้ยาวราว
เกือบ 10 ซม. กำลังเคลื่อนไหวไปมา แรกๆคิดว่าเป็นกิ่งไม้ที่ถูกลมพัดแกว่งไปมา
แต่แล้วมันก็ค่อยๆเคลื่อนตัวอย่างช้าๆจนอดตกใจไม่ได้ 




เมื่อดูอย่างถี่ถ้วนจึงรู้ว่าเป็นตั๊กแตนกิ่งไม้ที่มีสีและรูปร่างคล้ายกิ่งไม้มากๆ โดยมี
เปลือกห่อหุ้มลำตัวที่ดูเหมือนเปลือกไม้เป็นร่องๆ ส่วนลำตัวเรียวยาวคล้ายกิ่งไม้
และบริเวณหัวมีตาและปุ่มปม ตลอดจนริ้วรอยคล้ายแผลใบ หากมันเกาะนิ่งก็ยาก
ที่จะดูรู้ได้




ตั๊กแตนใบไม้(Phyllium sp.) มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด พบกระจายอยู่ทั่วโลก เป็นแมลง
อีกชนิดหนึ่งที่สร้างความประทับใจเมื่อได้พบเห็นครั้งแรก ขณะกำลังนั่งพักหลบแดด
ใต้ร่มเงาไม้ในช่วงกลางฤดูหนาว ได้ยินเสียงดังกรอบแกรบอยู่ใกล้ตัว เมื่อเหลียวไปดู
ก็พบใบไม้สีเขียวตองอ่อน 1 ใบ ค่อยๆคืบคลานเดินผ่านกองใบไม้บริเวณพื้นตาม
ฤดูกาลที่กำลังเปลี่ยนสีสันก่อนปลิดใบหลุดร่วงหล่น เมื่อเพ่งดูใกล้ๆก็อดทึ่งไม่ได้กับ
ตั๊กแตนใบไม้ที่พรางตัวอย่างแนบเนียน โดยปีกคู่หน้าของมันมีสีและรูปร่างเหมือน
ใบไม้ รวมทั้งลวดลายบนตัวที่เหมือนกับเส้นใบของใบไม้ 




เบื้องหลังการเปลี่ยนสีของ
ตั๊กแตนใบไม้จะขึ้นอยู่กับขึ้นกับอุณหภูมิ ความชื้น
และความเข้มของแสงในสภาพ
แวดล้อมที่อาศัยอยู่ โดยการทำงานของเซลล์
Epidermis ที่อยู่เหนือผิว Cuticle 
ซึ่งจะมีเม็ดสี(Pigment Granules)คอยเคลื่อนที่
เข้าในเซลล์ เพื่อตอบสนองกับ
สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ขาที่เป็นแผ่นบางๆยังช่วย
ทำให้มีโครงสร้างกลมกลืนกับ
ใบไม้ มันหลบหนีศัตรูด้วยการอยู่นิ่งๆตามต้นไม้
บริเวณใบ ซึ่งตั๊กแตนใบไม้บางชนิด
จะมีสีเขียวทั้งหมดเหมือนใบไม้สด บางชนิด
มีสีน้ำตาลเหมือนใบไม้แห้ง 



นอกจากนั้น
เมื่อถููกศัตรูพบเห็นก็มักจะข่มขู่ให้ศัตรูตกใจกลัว ด้วยการแผ่กางปีก
ที่มีสีสัน
สวยงามซ่อนไว้ภายในออกมาจนมีขนาดใหญ่กว่าปกติถึง2เท่า พร้อมกับ
กรีดปีกให้มีเสียงดัง


        ทั้งตั๊กแตนกิ่งไม้และตั๊กแตนใบไม้..มีลักษณะเด่นประการหนึ่งที่เหมือนกัน คือ
เป็นแมลงที่ไม่ค่อยว่องไว มีการเคลื่อนที่ช้า และไม่กระโดด ในช่วงกลางวันตั๊กแตน
ทั้งสองชนิดจะเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย และแทบแยกไม่ออกจากผืนป่ารอบๆที่พวก
มันพรางตัว เพื่อให้รอดพ้นจากเหล่านักล่าตาไวผู้ใช้สายตาในการล่า ครั้นเมื่อตะวัน
ชิงพลบ ทั้งสองต่างจะสลัดคราบความเหนียมอายทิ้งไปเพื่อออกหากินตามกองใบไม้
และเศษกิ่งไม้ที่ทับถมบนพื้นป่า เมื่อนั้นเองเราจะได้ชื่นชมกับชั้นเชิงในการพรางตัว
อันเก่าแก่ของพวกมัน



       อาจกล่าวได้ว่าทั้งสองต่างพรางตัวทำให้ดูกลมกลืนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ที่อยู่อาศัย อันเป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
ด้านการป้องกันตัว รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีของความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการระหว่างสัตว์
และพืชที่มีวิวัฒนาการมานานกว่า 47 ล้านปี และทั้งสองต่างถูกนักวิชาการนำไปใช้เป็น
สื่อการเรียนรู้ทางธรรมชาติวิทยา ชีววิทยา ตลอดจนใช้ในการนันทนาการเพื่อปลูกจิต
สำนึกด้านการอนุรักษ์




      กลยุทธ์การพรางตัวของสัตว์แต่ละชนิด มันย่อมเลือกให้เหมาะสมว่าตอนนั้นจะ
เป็นนักล่าหรือผู้ถูกล่า สิ่งแวดล้อมและเป้าหมายของมันย่อมเป็นตัวกำหนดรูปแบบ
การพรางตัว ว่าจะเลือกใช้กลิ่นลวงหลอก ตบตาด้วยรูปลักษณ์ที่โดดเด่น พรางกาย
ให้หายไปกับสภาพแวดล้อม รวมทั้งสร้างเสียงเพื่อให้สับสน กล่าวได้ว่า
“ความ
พยายามของนักพรางกายทั้งหลายสมควรจะได้รางวัลหรือไม่นั้น ไม่มีใคร
ให้คำตอบได้ แต่การรักษาชีวิตให้คงอยู่น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด”


การเลียนแบบ

       หลายคนอาจสับสนระหว่างคำว่า“การพรางตัว”และ“การเลียนแบบ” เพราะมัน
คล้ายกันมาก บ้างก็ว่า“มันพรางตัวด้วยการเลียนแบบสัตว์อื่น” หรือ“มันเลียนแบบ
ธรรมชาติด้วยการพรางตัว”


       เคยไหมที่พบผีเสื้อบินมาเกาะใกล้ๆ มองเผินๆนึกว่าเป็นผีเสื้อชนิดหนึ่ง แต่เมื่อ
เพ่งพินิจดูให้ดีกลับเป็นผีเสื้ออีกชนิดหนึ่ง เป็นเพราะมันมีลวดลายและสีสันคล้ายกันมาก

       สงสัยบ้างไหมว่าทำไมผีเสื้อหลายชนิดถึงมีลวดลายบนปีกดูคล้ายกับตาของ
พวกกลุ่มนกฮูกนกเค้าแมว


       พฤติกรรมการเลียนแบบให้ตัวเองมีลักษณะรูปร่างหรือสีสันเหมือนสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น
เพื่อตบตาสัตว์ต่างๆให้เข้าใจมันผิดไป เรียกว่าการเลียนแบบ(Mimic) ซึ่งสัตว์จะเลียน
แบบกันด้วยเหตุผล 2 ข้อ คือ เพื่อให้เป็นที่สังเกตเด่นชัด และเพื่อหลบซ่อน

       เหตุผลทั้ง 2 ข้อ อาจดูขัดแย้งกัน แต่ก็เพื่อชีวิตที่อยู่รอดเป็นหลัก คำว่า“หลบซ่อน”
คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม แต่คำว่า“เพื่อให้สัตว์นักล่าเห็นเด่นชัด” เพราะมันต้องการ
ให้สัตว์ผู้ล่าเข้าใจผิด คิดว่าตัวมันมีพิษเช่นเดียวกับสัตว์ที่มันเลียนแบบมา ซึ่งผู้ล่า
เหล่านี้ต่างเรียนรู้แล้วว่าสีสันอย่างนี้กินไม่ได้



ภาพและข้อมูลโดย  natureman   Moderator แฟนพันธุ์แท้แมกโนเลีย จาก  http://www.magnoliathailand.com/

วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ชำยอดอ่อนควบแน่น เคล็ดวิชาปราชญ์ชาวบ้าน

ไม่ว่าจะกิ่งยอด กิ่งเล็กก็ปักชำได้.

การเพาะพันธุ์พืชเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีตอนกิ่ง ปักชำ แต่ขั้นตอนการบำรุง
เลี้ยงดูให้รากงอกเติบโตขึ้นมาได้ ต้องประคบประหงมดูแลกันยิ่งกว่าลูกเมีย แต่
ลุงเฉลิม พีรี ปราชญ์ชาวบ้านจากพิษณุโลก ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัย
ราชภัฏกำแพงเพชร นำมาเปิดห้องเรียนประชาชนสอนการขยายพันธุ์พืช ใน “งาน
มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 56” จัดโดยสำนักงานคณะ กรรมการวิจัยแห่งชาติ มีวิธีการ
ไม่เหมือนใคร...การขยายพันธุ์พืชแบบปักชำ (ควบแน่น)


“ไม่จำเป็นต้องเอากิ่งแก่มาชำเหมือนเมื่อก่อน อยากปลูกต้นอะไร มะนาว มะกรูด ชมพู่
สะเดา มะเดื่อ หม่อนบราซิล แค่เอายอดกิ่งอ่อนๆมาชำ แถมทำได้ทีละมากๆ แถมพันธุ์
ไม้ไม่กลายพันธุ์ แข็งแรงกว่าการตอนกิ่งปักชำธรรมดา ที่สำคัญไม่ต้องเสียเวลาประคบ
ประหงมให้น้ำใส่ปุ๋ย”


ลุงเฉลิม พีรี กำลังสาธิตวิธีการปักชำ
ลุงเฉลิม บอกว่า ลงทุนแค่แก้วพลาสติกใสเพื่อจะได้มองเห็นรากที่งอก, ยางเส้นวงเล็ก,
ถุงพลาสติกขนาด 6×10 หรือ 6×11 นิ้ว และดินทั่วๆ ไป แต่ถ้าเป็นดินขุยไผ่ยิ่งดี (ห้ามใส่
ปุ๋ยเพราะทำให้ดินร้อน) เอาดินมาพรมน้ำทดลองกำ ถ้าดินจับตัวเป็นก้อนมีความร่วนซุย
ใส่ลงในแก้วพลาสติกกดให้แน่นจนดินเต็มเสมอปากแก้ว...จากนั้นเอายอดกิ่งไม้ที่เลือกไว้
ความอ่อนแก่ 40-60 เปอร์เซ็นต์




ตัดกิ่งให้แผลเป็นรูปปากฉลาม ใช้กรรไกรเจาะดินลงไป 3 ใน 4 ส่วนของดิน นำกิ่งชำมา
เสียบและกดลงไปให้แน่น แล้วเอาถุงพลาสติกสวมครอบกับแก้วพลาสติก แล้วใช้หนัง
ยางวง 2 เส้น รัดปิดปากถุงกับแก้ว ป้องกันไม่ให้อากาศภายนอกเข้า นำไปวางในที่ร่ม
อากาศถ่ายเท ทิ้งไว้ 15 วัน แล้วรากจะงอกมาให้เห็นเมื่อรากเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จัดการ
เปิดถุง ตัดก้นถ้วยให้เกิดช่องอากาศ นำไปจุ่มน้ำเล็กน้อยดึงแก้วออก แล้วเอากิ่งปักชำ
ใส่ถุงใบเดิม นำไปวางพัก 5-7 วัน



จากนั้นถึงนำไปปลูกลงดิน โดยให้กิ่งชำเอนเฉียงไปทางทิศเหนือหรือใต้ เพราะถ้าปลูก
ตั้งตรงหรือหันเฉียงไปทางทิศอื่น แดดจะเผากิ่งชำตายได้...เป็นเทคนิคง่ายๆ ทำเองได้
 ใช้ทุนไม่สูง จะเอาทำค้าขาย ลุงเฉลิม ไม่หวงวิชา.




ภาพและข้อมูลโดย เพ็ญพิชญา เตียว จาก  http://www.thairath.co.th/

วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2557

กรมวิทย์ฯเผย สารสกัด "ใบทุเรียนเทศแห้ง" มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งตับ

กระหึ่มโลกออนไลน์ ใช้ใบทุเรียนเทศทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีกว่าเคมีบำบัด ด้านกรมวิทย์ชี้งานวิจัยต่างประเทศช่วยต้านเซลล์มะเร็ง ต้านอนุมูลอิสระได้จริง มีสิทธิต่อยอดเป็นยา แต่มีสารที่เป็นพิษต่อเซลล์ประสาทและมีผลต่อไต ระบุยังต้องศึกษาอีกมากโดยเฉพาะเรื่องความเป็นพิษ เพื่อนำมาใช้อย่างปลอดภัย





นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่สรรพคุณใบทุเรียนเทศสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีกว่ายาเคมีบำบัด จนมีประชาชนสอบถามทางสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทย์ เป็นจำนวนมาก เพราะมีผลิตภัณฑ์จากใบทุเรียนเทศวางจำหน่าย ทั้งแคปซูล ชาชง และแนะนำให้ใช้ร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ว่า ทุเรียนเทศเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นสูงประมาณ 5-6 เมตร อยู่ในวงศ์เดียวกับน้อยหน่า ถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาเขตร้อน ต่อมามีการนำมาปลูกแพร่หลายในประเทศเขตร้อน ในต่างประเทศมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป สเปนเรียก graviola ภาคใต้ของไทยเรียก ทุเรียนน้ำ ภาคกลางเรียก ทุเรียนแขก ทุเรียนเทศมีผลสีเขียวรูปกลมรี มีหนามนิ่มที่เปลือก รสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย คนไทยนำทุเรียนเทศมาประกอบอาหาร ภาคใต้นิยมนำผลอ่อนใช้ทำแกงส้ม เชื่อม และคั้นทำเครื่องดื่ม ส่วนเมล็ดใช้เบื่อปลาและเป็นยาฆ่าแมลงได้ ส่วนใบมีสรรพคุณทางยาใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้ไอ ปวดตามข้อและความดันโลหิตสูง

       


       นพ.อภิชัย กล่าวว่า จากรายงานการวิจัยของต่างประเทศพบว่า สารสกัดจากใบทุเรียนเทศมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเต้านม ปอด ตับ ตับอ่อนและผิวหนังในหลอดทดลอง จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า สารสกัดมีฤทธิ์ระงับปวด ต้านการอักเสบ ลดน้ำตาลและไขมันในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานได้ และมีรายงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า สารสกัดด้วยเอทานอลของใบทุเรียนเทศมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของก้อนเนื้องอกผิวหนัง นอกจากนี้ สารสกัดยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของมะเร็งตับอ่อนและยังสามารถลดการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่นได้ด้วย ซึ่งจากการแยกสารสำคัญที่มีอยู่ในทุเรียนเทศที่มีผลต่อเซลล์มะเร็งพบว่า คือ สารกลุ่ม annonaceousacetogenins
       

       “แม้ทุเรียนเทศสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นยารักษามะเร็งหรืออาจใช้ร่วมกับเคมีบำบัดในอนาคต แต่มีข้อมูลการวิจัยพบว่า มีสารแอนโนนาซินเป็นพิษต่อเซลล์ประสาท นอกจากนี้ ในรายงานการวิจัยของประเทศกานา ยังพบว่า หนูทดลองที่ได้รับสารสกัดใบทุเรียนเทศในปริมาณสูงมีผลต่อการทำงานของไต ดังนั้น การนำทุเรียนเทศมาใช้บำบัดโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ยังต้องผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยอีกมาก เช่น กลไกออกฤทธิ์ต่อเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็ง การส่งสัญญาณภายในเซลล์ การแยกสารสำคัญออกฤทธิ์ชนิดต่างๆ การควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงด้านพิษวิทยาและความปลอดภัย” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าวและว่า สถาบันวิจัยสมุนไพร กำลังรวบรวมวัตถุดิบใบทุเรียนเทศในไทยมาศึกษาความเป็นพิษเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นข้อมูลคุ้มครองผู้บริโภค และวางแผนศึกษาวิจัยเพื่อหาทางนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป

ภาพจากอินเทอร์เนตและข้อมูลจากhttp://www.manager.co.th/

อ่านข้อมูลเกี่ยวกับทุเรียนเทศ