วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

ฮือฮา! พบต้น "พิศวง" พืชกินซากสายพันธุ์ใหม่ ในอุทยานแห่งชาติเขาหลัก


                


นายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ เปิดเผยว่า
เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมพืชได้สำรวจพบต้น “พิศวงเขาหลัก”
พืชกินซากสายพันธุ์ใหม่ ลักษณะลำต้นขนาดเล็กสีขาวแกมม่วง สูงไม่เกิน
10 เซนติเมตร มีกระเป๋าคอยดักจับมดหรือแมลงขนาดเล็กกินเป็นอาหาร
คล้ายต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง เจริญเติบโตกระจายอยู่ทั่วในพื้นที่ชุ่มชื้นบริเวณ
น้ำตกหินลาด ม.3 บ้านตีนเขา ต.ทุ่งคาโงก อ.เมืองพังงา เขตอุทยานแห่งชาติ
เขาหลัก-ลำรู่ ไม่เคยมีรายงานการค้นพบบันทึกไว้มาก่อน 

                           
นายสหัช จันทนาอรพินท์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ ระบุว่า “พิศวงเขาหลัก” ที่พบใหม่นี้
มีลักษณะคล้ายกับพิศวงที่พบในเกาะตะรุเตา จ.สตูล แต่มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด
โดยเฉพาะสีสัน และเกสรตัวผู้ที่ไม่เหมือนกัน ขณะนี้ยังไม่ได้ตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์
พบได้เฉพาะที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น สำหรับใน
ประเทศไทยมีรายงานการพบพืชสกุลนี้ครั้งแรกโดย ศาสตราจารย์ ดร. Kai Larsen 
ที่เกาะช้าง และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในปี ค.ศ. 1965 ซึ่งเป็นพืชชนิดใหม่
ของโลก และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Thismia mirabilis K.Larsen” คำว่า mirabilis
 แปลว่าประหลาด อาจจะเป็นที่มาของชื่อไทยว่า “พิศวง” ในเวลาต่อมามีรายงาน
การค้นพบพืชสกุล Thismia อีกหลายชนิดในบริเวณต่างๆ ปัจจุบันคาดว่าใน
ประเทศไทยน่าจะพบพืชสกุลนี้ไม่น้อยกว่า 12 ชนิด และหากมีการสำรวจเพิ่มเติม
ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะภาคใต้ของประเทศไทยน่าจะพบชนิดใหม่ๆ เพิ่มเติม
จากที่มีรายงานอยู่ในปัจจุบัน


“จังหวัดพังงาถือว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะในเขตพื้นที่
อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ และอุทยานแห่งชาติศรีพังงา ยังมีป่าที่อุดมสมบูรณ์
อยู่มาก นอกจากนี้ยังมีฝนตกชุกเกือบตลอดปี จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของ
พืชกลุ่มนี้ ซึ่งจะพบเห็นได้ง่ายในระหว่างช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. ของทุกปี สำหรับ
พิศวงที่พบในจังหวัดพังงาในปัจจุบันอย่างนี้มีทั้งสิ้น 3 ชนิดได้แก่ พิศวงชวา
พิศวงหนวดแดง และพิศวงเขาหลัก ซี่งจะพบได้เฉพาะอุทยานแห่งชาติ
เขาหลัก-ลำรู่เท่านั้น ลักษณะทั่วไปของพืชสกุลนื้ คือเป็นพืชขนาดเล็ก
ไม่สามารถสร้างอาหารได้เอง เนื่องจากไม่มีคลอโรพลาสต์ ต้องเจริญเติบโต
อยู่รวมกับรา และอาศัยราย่อยสลายสารอาหารให้ มีเรียกพืชที่มีการดำรงชีวิต
แบบนี้ว่า mycotrophic  หรือ mycoheterotrophic plants มีลำต้นและ/หรือรากสะสม
อาหารอยู่ใต้ดิน จะพบเจริญงอกงามขึ้นมาเหนือพื้นดินในระยะสร้างดอกและ
ผลเท่านั้น ส่วนใหญ่จึงมักพบพืชกลุ่มนี้ออกดอกในฤดูฝน” นายสหัชกล่าว


ก่อนหน้านี้บริเวณชายทะเลหาดเขาหลักก็ได้มีการค้นพบแหล่งปะการังที่สำคัญ
และสวยงาม ที่อยู่ห่างชายฝั่งทะเลเพียง 800 เมตร ทำให้เป็นที่สนใจเดินทาง
ไปท่องเที่ยวและศึกษาระบบนิเวศน์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ
จำนวนมาก ส่งผลให้จัดเก็บรายได้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 170 เปอร์เซ็นต์


นายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ เชื่อว่า
การค้นพบต้นพิศวง ซึ่งเป็นนิวสปีชี่ หรือพืชสายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้จะเป็นข้อมูล
ยืนยันที่สำคัญว่าประเทศไทยยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ เหมาะสำหรับ
เป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ ที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศไทย
เพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต ที่สำคัญอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ยังเป็นแหล่ง
อาศัยและแพร่ขยายพันธุ์ของสัตว์ป่าอีกหลากหลายชนิด โดยเฉพาะนกที่สวยงาม
หายาก และใกล้สูญพันธุ์ เช่น นกแซวสวรรค์ และนกกระเต็นน้อยหลังสีน้ำเงิน เป็นต้น 


ภาพและข้อมูลจาก http://www.khaosod.co.th

วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

ดอกบอลลูน



ตอนที่เห็นครั้งแรก ประทับใจในสีของดอกสีม่วงที่สดสะดุดตา แล้วก็รูปทรงของดอก
ก็ดูแปลกตา เลยตัดสินใจซื้อมา 1 กระถาง 



ดอกบอลลูน เข้าใจว่าได้ชื่อมาจากเจ้าดอกตูมที่มีรูปร่างเหมือนบอลลูนข้างบนนั่น

ครั้งแรกที่วางกระถางต้นดอกบอลลูนไว้ในแดดรำไร ทำท่าจะเป็นเชื้อราที่ต้น
โดยเหี่ยวแห้งตายนึ่งเป็นกิ่งๆ ซะงั้น 
เลยจับตัดกิ่งที่มีปัญหาทิ้ง แล้วจับมาวางไว้
กลางแดดจัดเลย โดยรดน้ำให้เช้า-เย็น คิดว่าตายป็นตายก็แล้วกัน แต่ปรากฏว่า
ชูช่องามขึ้นมาเริ่มออกดอก ต้นแข็งแรงขึ้นมาซะงั้น แปลว่าเจ้านี่ชอบน้ำ
แต่น้ำต้องไม่ขังนะ 
แล้วก็ชอบแดดด้วย




ออกดอกมาหลายรอบแล้ว ดอกที่โรยก็ตัดก้านทิ้งแล้วก็ ใส่ปู๋ยอินทรีย์ รดน้ำสม่ำเสมอ
แค่นี้ก็จะออกดอกให้ชื่นชมไม่ว่างเว้น ชอบสีของดอกที่มีสีสดตัดกับใบซึ่งมีสีเขียวเข้ม
ทำให้ดูสวยสะดุดตามาก  สวยจริงๆค่ะ 


ดอกจะมีลายเส้นสีเข้มชัดเจนจากโคนกลีบดอกมาปลายดอก ดูอย่างกับเป็นเสันเลือด
ส่งมาเลี้ยงดอกเลยและช่วยให้เกสรที่อยู่ตรงกลางเด่นขึ้นมากค่ะ

                                        

ข้อมูลทางวิชาการค่ะ

ชื่อสามัญ  Balloon flower
ชื่อวิทยาศาสตร์  Platycodon grandiflorus (Jacq.) A. DC.วงศ์ Campanulaceae
ลักษณะทั่วไป 
ต้น เป็นไม้เถาเลื้อย เนื้อแข็ง อายุหลายปี มีหัวใต้ดิน
ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบรูปใบหอกแกมรี กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 5-7 เซนติเมตร 
ปลายใบ แหลม โคนใบมน ชอบใบจักฟันเลื้อยซ้อน ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้ม
ดอก มีหลายสีเช่น สีขาว ชมพูหรือม่วงอมน้ำเงิน อาจมีเส้นสีม่วงเข้มกลางกลีบ   
ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ แบบช่อเชิงหลั่น  รูปถ้วย มีทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน 
โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก แหลม คล้ายรูปดาว ดอกบานเต็มที่
กว้าง 3-5 เซนติเมตร

ม่วงส่าหรี


        วันก่อนไปเดินดูต้นไม้แล้วก็ไปพบเจ้าใบสีเขียวเข้มแข็งกรอบ เราคิดว่าเป็น อินทนิล
แต่ทำไม 
มันออกดอกช่อเล็กเกินไป  หรือจะเป็นตะแบก  แต่ก็ดูจะหรูหราเกินตะแบก
แล้วมันต้นอะไรเล่านี่...
         
         และแล้วคนขายก็มาเฉลยบอกว่าเขาเรียกว่าม่วงส่าหรี  เป็นพันธุ์ประเภทเดียวกับตะแบก 
อินทนิล เราก็ได้แต่ร้องอ้อ อย่างน้อยเราก็คิดชนิดได้ใกล้เคียงแม้จะห่างชื่อกันหน่อยก็ตาม

         เราเลยตัดสินใจยกมา 2 กระถาง  มารดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้หน่อย แค่ 2-3 สัปดาห์
ก็ได้เชยชมดอก
ที่ออกมาเป็นช่อๆ ซึ่งบานพร้อมกันทั้งช่อ (ชอบมาก) มีกลิ่นหอมอ่อนๆ
เมื่อยืนอยู่ใกล้ๆ แล้วกลีบดอกก็จะค่อยๆร่วงหล่นไป พอดอกหล่นร่วงไปมากๆ เราก็ตัดกิ่งทิ้งๆๆๆ...
โดยหารู้ไม่ว่า....เขายังมีออกดอกรอบสองให้อีก  แต่กว่าจะรู้เราก็ตัดเพื่อนไป 2-3 กิ่งแล้ว ....
เสียดายจะแย่ .... แต่เขาก็แตกยอดใหม่ให้ชื่นใจอยู่  คงต้องอาศัยเวลาสักหน่อย  ที่จะได้
เชยชมดอกอีก   ไม่เป็นไร เขาว่า งอ..งู มาก่อน ฉอ..ฉิ่งจริงๆ เลย  คริคริ....คนขายก็ไม่เคย
กระซิบบอกความลับอันนี้เลย  ....โกรธคนขายจังนะ   


        ม่วงส่าหรี  มีลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 3.5-4 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้าง 
ทรงกลม ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม 
โคนใบเกือบมน เนื้อใบค่อนข้างหนา ดูเหมือนใบอินทนิลน้ำ เป็นสีเขียวสด เวลามีใบดก
จะเป็นพุ่มหนาแน่นให้ร่มเงาดีมาก ดอกออกเป็นช่อแน่นขนาดใหญ่ ที่ปลายยอด แต่ละช่อ
ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ลักษณะดอกคล้ายกับดอกยี่เข่ง ผสมดอกตะแบกมาก 
สีของดอกเป็นสีม่วงเข้ม หรือ สีน้ำเงินเข้ม เวลามีดอกจะดกเต็มต้น และดอกจะ
บานพร้อมกัน ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง



         ปัจจุบันไม้ดอกไม้ประดับมีความจำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนมากขึ้น ไม่ใช่เพียง
ปัจจัยสี่เท่านั้น แต่ยังต้องการจัดสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัยให้เกิดความร่มรื่น สวยงาม
น่าอยู่อีกด้วย เช่น มีการจัดสวน ตกแต่งอาคาร สถานที่ บ้านพักอาศัย อาคารสำนักงาน 
โรงเรียน ภัตตาคาร โรงแรม ห้องประชุม/สัมมนา และสถานที่ต่าง ให้เกิดความสวยงาม 
จึงเห็นได้ว่าการปลูกไม้ดอกไม้ประดับนับวันจะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของมากขึ้น 
และมีมูลค่าสูงเท่าเทียมกับผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ดังนั้นการปลูกไม้ดอก
ไม้ประดับจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพที่น่าสนใจนอกเหนือจาก
ได้รับความสุนทรีย์ทางด้านจิตใจ

ข้อมูลจาก  http://www.m-culture.in.th/

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

10 อันดับ ต้นไม้ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก

ต้นไม้ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก

อันดับ 10. Arbol del Tule


Árbol del Tule ต้นไซปรัส มอนเตซูมา ตั้งอยู่ใจกลางเมือง Santa María del Tule รัฐโออาซากาทางตอนใต้ของเม็กซิโก เป็น ต้นไม้ที่มีลำต้นใหญ่ที่สุดในโลก แม้ดูแล้วจะให้ความรู้สึกคล้ายต้นไม้หลายต้นเจริญเติบโตใกล้กัน แต่ผลทาง DNA ก็พิสูจน์ออกมาแล้วว่าที่เห็นอยู่นี้ พี่เค้าคือต้นไม้ยักษ์เพียงต้นเดียวเท่านั้น และมีอายุประมาณ 1,200-3,000 ปี !

 อันดับ 9. Cotton Tree

ต้นฝ้าย แห่ง Freetown เมืองหลวงของ เซียร์ราลีโอน ตามตำนานกล่าวว่า ต้นฝ้าย นี้ได้กลายเป็น สัญลักษณ์แห่งประวัติศาสตร์ ในปี 1792 เมื่อครั้งกลุ่มทาสอเมริกันแอฟริกันในอดีตต่อสู้กับชนอังกฤษช่วงสงคราม ปฏิวัติอเมริกันจนได้รับอิสระและตั้งรกรากอยู่ที่ย่าน Freetown พวกเขารวมตัวกันที่ชายฝั่งและทำพิธีขอบคุณพระเจ้าบริเวณต้นฝ้ายยักษ์ ประจักษ์พยานแห่งเสรีภาพ

อันดับ 8. Boab Prison Tree

Boab Prison Tree ต้นไม้คุมขัง หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายว่า คุกต้นไม้ เป็นต้นไม้โพรงขนาดใหญ่ อยู่ทางตอนใต้ของ เมือง Derby รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย มีชื่อเสียงโ่ด่งดังในฐานะที่เคยถูกใช้เป็นคุกขังนักโทษชนเผ่าออสเตรเลีย พื้นเมือง ในช่วงปี 1890 ปัจจุบันได้มีการสร้างรั้วรอบด้านเพื่อป้องกันการถูกทำลาย


อันดับ 7. Major Oak


Major Oak เป็นต้นโอ๊คขนาดยักษ์ ใจกลางป่า Sherwood เขต Nottinghamshire ประเทศอังกฤษ เชื่อกันว่าเคยเป็นที่พักของโรบินฮู้ดและผองโจร ต้นไม้ที่มีชื่อเสียงแห่งนี้มีอายุราว 800 ถึง 1,000 ปี ในปี 1790 พลตรี Hayman Rooke นักสะสมโบราณวัตถุ ได้เขียนถึง ต้นโอ๊คยักษ์แห่งนี้ ไว้ในหนังสือชื่อดังของเขา จึงเป็นที่มาของชื่อ Major Oak

อันดับ 6. Lone Cypress


Lone Cypress ต้นไซปรัสผู้โดดเดี่ยว ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ที่ชายหาด Pebble โต้ท้าลมจากมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นจุดชมวิวที่มีชื่อเสียงที่สุดบนถนนเส้น 17 ไมล์ ต้นไซปรัสที่เห็นเป็นสายพันธุ์ที่หาได้ในแถบชายฝั่งตอนกลางของ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนตามป่าเขาจะพบไซปรัสนี้ได้เพียง 2 แห่ง คือ มอนเทอเรย์ และ คาร์เมล 


 อันดับ 5. Tree of Life

ต้นไม้่แห่งชีวิต ประเทศบาห์เรน เป็นไม้หนามแหลมที่เจริญเติบโตกลางทะเลทราย มีอายุประมาณ 400 ถึง 500 ปี รากยาวที่ฝังลึกอาจถูกหล่อเลี้ยงจากแหล่งน้ำใต้ดิน ถือเป็นความอัศจรรย์ที่หนึ่งชีวิตสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในดินแดนอันแสนแห้ง แล้ง ชนท้องถิ่นมีความเชื่อว่าสิ่งนี้อาจเป็น สวนแห่งอีเดน ที่แท้จริง

อันดับ 4. Socotra Dragon Trees

ต้นไม้เลือดมังกร เป็นพันธุ์ไม้ที่มีเอกลัษณ์และชื่อเสียงมากที่สุดของเกาะ Socotra เชื่อกันว่ามีทีมาจากตำนานแปลก พระเจ้าเสกมังกรยักษ์ให้กลายเป็นต้นไม้ จึงรู้จักกันในชื่อ Dragon Tree หาก ลองกรีดเปลือกไม้ เลือดของมังกรจะไหลรินออกมา และรูปลักษณ์ประหลาดนี้มีส่วนสร้างร่มเงา บดบังแสงอาทิตย์ ช่วยลดอัตราการระเหย จึงทำให้  Dragon Tree มีชีวิตรอดท่ามกลางสภาพแห้งแล้ง

อันดับ 3. General Sherman

General Sherman หรือ นายพลเชอร์แมน เป็นต้นซีคัวยายักษ์ ตั้ง ตระหง่านอยู่ที่ ป่า Giant อุทยานแห่งชาติซีคัวยา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศอเมริกา หากวัดในเชิงปริมาณ 5 ใน 10 ของต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่ป่าแห่งนี้ และ General Sherman คือ ต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในอุทยาน ด้วยความสูง 83.8 เมตร (275 ฟุต) เส้นผ่าศูนย์กลาง 7.7 เมตร (25 ฟุต) เชื่อกันว่า ต้นซีคัวยานี้ มีอายุถึง 2,300 – 2,700 ปี


อันดับ 2. Cedars of God

Cedars of God เป็นป่าขนาดเล็ก ประกอบด้วยต้นสนซีดาร์ประมาณ 400 ต้น อยู่บนภูเขาทางตอนเหนือของประเทศเลบานอน เป็นร่องรอยสุดท้ายที่เหลืออยู่ของป่าสนซีดาร์ซึ่งเจริญเติบโตและยืนหยัดมาตั้งแต่สมัยโบราณ สนซีดาร์แห่งเลบานอน ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิลกว่า 70 ครั้ง ชาวอียิปต์โบราณใช้ยางสนในพิธีทำมัมมี่ และกษัตริย์โซโลมอนใช้ต้นสนนี้ในการสร้างวัดแห่งแรกของเยรูซาเลม


อันดับ 1. Avenue of the Baobabs

ต้นเบาบับ มีขนาดสูงเต็มที่ เกือบ 30 เมตร กว้าง 11 เมตร ลักษณะพิเศษของ ต้นเบาบับ คือมีลำต้นพองโต ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่กักเก็บน้ำได้มากถึง 120,000 ลิตร เพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่แห้งแล้ง มีอายุกว่า 800 ปี หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งมาดากัสการ์ แม้ป่าบางแห่งจะถูกทำลายลงเพื่อนำมาสร้างบ้านเรือนให้มนุษย์ แต่ ป่าเบาบับ ซึ่งถือเป็นต้นไม้ประจำชาติ ยังคงได้รับการอนุรักษ์

ข้อมูลและภาพจาก http://www.farmkaset.org/ โดย ข้อมูล : www.touropia.com  เรียบเรียง : travel.mthai.com

วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

สวนเทียนเล็กๆกับขวดๆ

ที่บ้าน คุณๆทั้งหลายเค้าชอบดื่มน้ำเปล่าจากขวดกัน แล้วก็มีขวดเปล่ามากมาย
เราก็จะแยกใส่ถุงก็อบแก็บแล้วเอาไปใส่ถังขยะให้คนเก็บขยะเอาไปขายง่ายๆ
ก็เป็นความภูมิใจเล็กๆนะ


แต่ตอนนี้เริ่มคิดใหม่คือขี้เกียจ เลยเก็บใส่ถุงใหญ่ทีละมาก


พอเก็บได้มากๆก็เลยคิดทำที่ปลูกดอกไม้ดีกว่า แล้วก็ตัดก้นแล้วผูกติดกัน 3 ชั้นแล้ว
ใส่เปลือกมะพร้าวสับแล้วก็ดินเกษตรลงไป หยอดเมล็ดดอกเทียนไทยที่ซื้อมา 1 ซอง
จากร้านข้ายต้นไม้ในใจคิดว่า อย่าหวังผล อาจจะไม่มีสักต้นที่งอกขึ้นมา
หลังจากรดน้ำไป ประมาณ 7 วัน ก็งอกออกมา ดีใจมากตามประสาคนที่เพิ่งเริ่ม
อะไรสักอย่างแล้วได้ผลน่ะ


แต่ต้นไม่อวบอ้วน(เหมือนคนเพาะเมล็ดเลย) ดูแล้วมีแต่ผอมลง (น่าสงสารจัง)สงสัยขาดปุ๋ย
ก็ไปซื้อปุ๋ยอิทรีย์มาใส่ต้นละ 1 ช้อนชา ทุกอาทิตย์ แต่เราก็ใส่ตามสะดวก(ความขยัน) น่ะ

                                    ผลก็เลยออกมาแบบไม่มีต้นไหนที่ไม่เพรียวเลย

                          ดูจากด้านบนจ้า ดูดีเทียว  แต่ก็ยังออกดอกให้ดูด้วย น่ารักจัง

เริ่มออกดอกแล้วนะ

แข่งกันแย่งความสวย

อีกมุมจ้า


ระยะใกล้จ้า โทรมเชียวหลังโดนฝนมา 3 วันติดๆ

งานนี้ต้องขอบคุณเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาปลูกแล้วขึ้น

หมายเหตุ เราซื้อกะเพราขาวมา 1 ซองกะว่าปลูกให้เป็นสวนเลย  ผลคือได้มา 1 ต้นเอง
                เซ็งไปเลยเรา... สงสัยต้นเทียนไทยเป็นดอกไม้ที่ปลูกขึ้นง่ายที่สุดมั้ง????


ใบไม้สีทอง


ปีนี้ใบไม้สีทองออกดอกเร็วกว่ากำหนด  ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม และเจ้าก็ออกดอกมามากมายแล้ว


ใบที่เปลี่ยนเป็นสีทองเปรียบเทียบกับใบสีที่เป็นปกติ


ดอกออกเป็นช่อ


กิ่งไหนจะออกดอก ใบจะเปลี่ยนเป็นสีทอง


กิ่งนี้ก็ใช่ กำลังจะออกดอก ใบนี้ยังเป็นสีชมพูอยู่เลย

ข้อมูลเพิ่มเติมทางวิชาการ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia aureifolia K.&S.S.Larsen ชื่ออื่น : ใบไม้สีทอง , เถาใบสีทอง, ย่านดาโอ๊ะ
ใบไม้สีทองมีชื่อท้องถิ่นอีกชื่อหนึ่งว่า ย่านดาโอ๊ะ เป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลกมีชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Bauhinia aureifalia ตั้งชื่อโดยศาสตราจารย์ ไคลาร์เสน (Dr.of Kai Lascrn) นักพฤษาศาสตร์ชาวเดนมาร์ค เมื่อ ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) โดยตั้งชื่อตามสีของใบ (Chryso-สีทอง, Phyllun-ใบ) ใบไม้สีทอง ไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ มีมือเกาะม้วนงอ เลื้อยขึ้นไปคลุมตามเรือนยอดของต้นไม้ใหญ่ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปเกือบกลม ปลายใบหยักเว้าเป็นแฉกลึก 2 แฉก โคนใบเว้าหยักคล้ายรูปหัวใจ รูปร่างคล้ายกับใบกาหลงหรือชงโค แต่ขนาดใหญ่กว่ามากใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง หรือขนสีทองแดงเป็นมันคล้ายเส้นไหมปกคลุมหนาแน่น ลักษณะเหมือนกำมะหยี่ เริ่มแรกใบจะเป็นสีนาค คล้ายสีชมพู เมื่อผ่านไปสัก 2 สัปดาห์ จะกลายเป็นสีน้ำตาล และเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนประมาณ 3 เดือน จะกลายเป็นสีทอง และอีก 6 - 7 เดือนต่อจากนั้น จากสีทองจะกลายเป็นสีเงิน ใบที่สมบูรณ์เต็มที่มีขนาด 10x18 ซม. แต่เคยพบใหญ่ที่สุดกว่า 25 ซม. นอกจากนี้ ใบไม้สีทอง ถือเป็นพันธุ์ไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ เส้นรอบวงของเถาวัลย์ประมาณ 100 ซ.ม. เลื้อยพันต้นไม้ใหญ่ขึ้นสูงถึง 30 เมตร
ดอกมีกลิ่นหอม ออกบนช่อแตกแขนงสั้นๆ ตามปลายกิ่ง กลีบดอก ๕ กลีบ รูปใบพาย สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีนวล ผลเป็นฝักแบนยาวคล้ายดาบ เมื่อแก่จะแตกออกมี ๖-๘ เมล็ด ออกดอกชุกระหว่างเดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์
เขตกระจายพันธุ์และถิ่นกำเนิด : พบเฉพาะในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา ขึ้นตามที่โล่งริมลำธารในป่าดิบชื้น อุทยานแห่งชาติน้ำตกบาโจ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ระดับความสูง ๕๐-๒๐๐ เมตร ออกดอกและผลเดือน สิงหาคม - ธันวาคม
สถานภาพ : พืชถิ่นเดียวและพืชหายากในสภาพธรรมชาติ ปัจจุบันนำมาขยายพันธุ์และปลูกเป็นไม้ประดับกันบ้าง แต่ยังไม่แพร่หลาย

การนำใบไม้สีทองมาเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก

การหาวัตถุดิบ จะต้องผ่านการอนุญาตจากวนอุทยานฯ เนื่องจากใบไม้สีทอง อยู่ในป่าลึกคนที่จะเข้าไปเก็บต้องเป็นผู้ชำนาญทาง โดยปีหนึ่งจะเก็บได้แค่ 2 ช่วง คือ เดือนมีนาคมและกันยายนเท่านั้น ใบที่เก็บมา เฉลี่ยจาก 100 ใบ จะมีใบสมบูรณ์สามารถนำมาจำหน่ายได้ประมาณ 20ใบเท่านั้น "หัวใจสำคัญอยู่ที่ความรู้ในการเก็บ ต้องเริ่มจากการเก็บใบไม้สดมา แล้วมาทำให้แห้งตามธรรมชาติ ด้วยการใส่ลงในถุงคอยจนแห้ง ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 4 เดือนถึง 5 เดือน และนำมาอัดรีดให้เรียบ โดยต้องใช้เวลานานถึง 3 เดือน ก่อนที่นำมาใส่ซองบรรจุภัณฑ์ หรือนำมาใส่กรอบรูป ขายเป็นของแต่งบ้าน หลายคนที่ซื้อเพราะเห็นว่าเป็นใบไม้มงคล โดยเฉพาะในช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน จะขายใบไม้สีทองได้จำนวนมาก"
ความแปลกของต้นใบไม้สีทอง ใน 1 ต้น จะมีการเปลี่ยนของสีใบถึง 3 สี คือ สีนาค สีเงิน และสีทอง (ฤดูร้อน, ฤดูฝนจะมีสีทอง และฤดูหนาวจะมีสีเงิน ) ใน 1 ต้น จะมีใบสีนาคเพียง 1 ใบเท่านั้น ทำให้ต้นใบไม้สีทองกลายเป็นใบไม้มงคลตามความเชื่อ ที่หลายคนอยากที่มีไว้ภายในบ้านเพื่อเป็นสิริมงคล

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://www.prd.go.th

ดอกมังกรคาบแก้ว


เจ้าดอกมังกรคาบแก้วที่บ้านมีหนึ่งต้น ออกดอกบานสะพรั่งเป็นช่อๆสีขาว แล้วมีสีแดง
อยู่ปลายดอก 
อยู่เต็มต้น ดูแล้วสดชื่นดีมาก  เสียอย่างเดียวไม่มีกลิ่นหอม
สวยแต่รูปจูบไม่หอมนะเจ้า......




ข้อมูลเพิ่มเติมทางวิชาการ

มังกรคาบแก้วมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Clerodendrum thomsoniae   Balf.f.  อยู่ในวงศ์ LAMIACEAE (LABIATAE)เป็นไม้ประดับที่เป็นไม้เถาเลื้อย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี
หรือรูปไข่ โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ปลายใบแหลม ใบ
มีสีเขียวเข้มดอกออกเป็นช่อ
ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีขาว โคนเชื่อมติดกันคล้ายถุง ปลายสอบเข้าหากัน
กลีบดอก 5 กลีบ สีแดง เชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบแผ่แบน 
ดอกมีสีสดสวยและ
มีมากมายหลายชนิดหลายพันธุ์จึงมีสีสันต่างกันไปเช่น แดง ส้ม ม่วง เหลือง และชมพู

มังกรคาบแก้วมีถิ่นกำเนิดแถบ แอฟริกาตะวันตก 
การออกดอก มังกรคาบแก้วสามารถออกดอกได้ตลอดปี 
ปลูกเลี้ยงเป็นไม้ประดับได้สองแบบ คือในช่วงฤดูการเจริญเติบโตทางต้นและใบจะสวยงาม
คล้ายไม้ใบจำพวกกระบองเพชรที่มีใบสีเขียวหัวห้อยลง แต่เมื่อเข้าฤดูหนาวอากาศเย็นและ
กลางวันสั้นลง กลางคืนยาวนานจะกระตุ้นให้ออกดอกสีสันสวยงาม และดอกจะบานเต็มที่ในช่วง
เทศกาล
คริสต์มาสและปีใหม่
มังกรคาบแก้วเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ง่ายด้วยการเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง ปลูกเลี้ยงง่าย สามารถ
ปลูกเลี้ยงได้ทั้งภายนอกและ
ภายในอาคาร ควรปลูกเลี้ยงให้ได้แสงจัด แต่ไม่ใช่แสงแดดโดยตรง
ควรแขวนกระถางไว้ในที่ที่มีอากาศ
โปร่งถ่ายเทลมดี


ข้อมูลดีดีจาก http://www.panmai.com และhttp://www.qsbg.org