เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมพืชได้สำรวจพบต้น “พิศวงเขาหลัก”
พืชกินซากสายพันธุ์ใหม่ ลักษณะลำต้นขนาดเล็กสีขาวแกมม่วง สูงไม่เกิน
10 เซนติเมตร มีกระเป๋าคอยดักจับมดหรือแมลงขนาดเล็กกินเป็นอาหาร
คล้ายต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง เจริญเติบโตกระจายอยู่ทั่วในพื้นที่ชุ่มชื้นบริเวณ
น้ำตกหินลาด ม.3 บ้านตีนเขา ต.ทุ่งคาโงก อ.เมืองพังงา เขตอุทยานแห่งชาติ
เขาหลัก-ลำรู่ ไม่เคยมีรายงานการค้นพบบันทึกไว้มาก่อน
นายสหัช จันทนาอรพินท์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ ระบุว่า “พิศวงเขาหลัก” ที่พบใหม่นี้
มีลักษณะคล้ายกับพิศวงที่พบในเกาะตะรุเตา จ.สตูล แต่มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด
โดยเฉพาะสีสัน และเกสรตัวผู้ที่ไม่เหมือนกัน ขณะนี้ยังไม่ได้ตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์
พบได้เฉพาะที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น สำหรับใน
ประเทศไทยมีรายงานการพบพืชสกุลนี้ครั้งแรกโดย ศาสตราจารย์ ดร. Kai Larsen
ที่เกาะช้าง และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในปี ค.ศ. 1965 ซึ่งเป็นพืชชนิดใหม่
ของโลก และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Thismia mirabilis K.Larsen” คำว่า mirabilis
แปลว่าประหลาด อาจจะเป็นที่มาของชื่อไทยว่า “พิศวง” ในเวลาต่อมามีรายงาน
การค้นพบพืชสกุล Thismia อีกหลายชนิดในบริเวณต่างๆ ปัจจุบันคาดว่าใน
ประเทศไทยน่าจะพบพืชสกุลนี้ไม่น้อยกว่า 12 ชนิด และหากมีการสำรวจเพิ่มเติม
ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะภาคใต้ของประเทศไทยน่าจะพบชนิดใหม่ๆ เพิ่มเติม
จากที่มีรายงานอยู่ในปัจจุบัน
“จังหวัดพังงาถือว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะในเขตพื้นที่
อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ และอุทยานแห่งชาติศรีพังงา ยังมีป่าที่อุดมสมบูรณ์
อยู่มาก นอกจากนี้ยังมีฝนตกชุกเกือบตลอดปี จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของ
พืชกลุ่มนี้ ซึ่งจะพบเห็นได้ง่ายในระหว่างช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. ของทุกปี สำหรับ
พิศวงที่พบในจังหวัดพังงาในปัจจุบันอย่างนี้มีทั้งสิ้น 3 ชนิดได้แก่ พิศวงชวา
พิศวงหนวดแดง และพิศวงเขาหลัก ซี่งจะพบได้เฉพาะอุทยานแห่งชาติ
เขาหลัก-ลำรู่เท่านั้น ลักษณะทั่วไปของพืชสกุลนื้ คือเป็นพืชขนาดเล็ก
ไม่สามารถสร้างอาหารได้เอง เนื่องจากไม่มีคลอโรพลาสต์ ต้องเจริญเติบโต
อยู่รวมกับรา และอาศัยราย่อยสลายสารอาหารให้ มีเรียกพืชที่มีการดำรงชีวิต
แบบนี้ว่า mycotrophic หรือ mycoheterotrophic plants มีลำต้นและ/หรือรากสะสม
อาหารอยู่ใต้ดิน จะพบเจริญงอกงามขึ้นมาเหนือพื้นดินในระยะสร้างดอกและ
ผลเท่านั้น ส่วนใหญ่จึงมักพบพืชกลุ่มนี้ออกดอกในฤดูฝน” นายสหัชกล่าว
ก่อนหน้านี้บริเวณชายทะเลหาดเขาหลักก็ได้มีการค้นพบแหล่งปะการังที่สำคัญ
และสวยงาม ที่อยู่ห่างชายฝั่งทะเลเพียง 800 เมตร ทำให้เป็นที่สนใจเดินทาง
ไปท่องเที่ยวและศึกษาระบบนิเวศน์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ
จำนวนมาก ส่งผลให้จัดเก็บรายได้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 170 เปอร์เซ็นต์
นายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ เชื่อว่า
การค้นพบต้นพิศวง ซึ่งเป็นนิวสปีชี่ หรือพืชสายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้จะเป็นข้อมูล
ยืนยันที่สำคัญว่าประเทศไทยยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ เหมาะสำหรับ
เป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ ที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศไทย
เพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต ที่สำคัญอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ยังเป็นแหล่ง
อาศัยและแพร่ขยายพันธุ์ของสัตว์ป่าอีกหลากหลายชนิด โดยเฉพาะนกที่สวยงาม
หายาก และใกล้สูญพันธุ์ เช่น นกแซวสวรรค์ และนกกระเต็นน้อยหลังสีน้ำเงิน เป็นต้น
ภาพและข้อมูลจาก http://www.khaosod.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น